ads

พื้นฐานการออกแบบระบบเครือข่าย

การออกแบบระบบเครือข่าย สวัสดีครับ ตามที่ได้เคยสัญญาไว้ว่าเราจะมาคุยกันถึงเรื่อง Solution หรือทางออก หรือที่เรียกอีกอย่างว่าวิธีก... thumbnail 1 summary

การออกแบบระบบเครือข่าย
สวัสดีครับ ตามที่ได้เคยสัญญาไว้ว่าเราจะมาคุยกันถึงเรื่อง Solution หรือทางออก หรือที่เรียกอีกอย่างว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของระบบเครือข่ายในระบบธุรกิจรูปแบบต่างๆ กัน  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่เราจะไปคุยกันถึง Solution ต่างๆ นั้นก็คือ เรื่องของพื้นฐานการออกแบบระบบเครือข่ายครับ  ฉะนั้นในครั้งนี้ผมจะขอนำท่านทั้งหลายมาคุยกันถึงพื้นฐานการออกแบบระบบเครือข่ายกันนะครับ
การที่เราจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการใช้งานระบบเครือข่ายนั้น ส่วนใหญ่เลยจะเริ่มต้นมาจากการออกแบบการวางระบบเครือข่ายที่ดีและเหมาะสม  ในการใช้งานหรือติดตั้งระบบเครือข่ายนั้น ส่วนใหญ่แล้วเราจะไม่ทำการติดตั้งให้มีการใช้งานอย่างสมบูรณ์ในคราวเดียว  เนื่องจากว่าจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเกินไป ดังนั้นการออกแบบระบบเครือข่ายที่ดีนั้น ควรจะต้องมีการคำนึงถึงการขยายตัวหรือพัฒนาของระบบเครือข่ายในอนาคตด้วย  เนื่องจากว่าในแต่ละองค์กรก็จะมีความต้องการในการใช้งานระบบเครือข่ายที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้นรูปแบบของระบบเครือข่ายก็จะมีความแตกต่างๆ กันออกไป รูปแบบการออกแบบก็จะแตกต่างกันไปด้วยเหมือนกัน ในบทความครั้งนี้ ผมจะได้แนะนำท่านทั้งหลายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ควรต้องคำนึงถึงในการออกแบบระบบเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะให้ได้ประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด

ก่อนเริ่มการออกแบบระบบเครือข่าย
หลักการพื้นฐานขั้นตอนแรกก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการออกแบบสำหรับระบบเครือข่ายก็คือ เราควรจะต้องมีการศึกษาถึงความต้องการการใช้งานระบบเครือข่ายที่แท้จริง และระบบการทำงานขององค์กรก่อน รวมถึงควรต้องมีการประเมินและวิเคราะห์ระบบเครือข่ายที่เราจะออกแบบอย่างละเอียดเสียก่อน เพราะว่าแต่ละองค์กรก็จะมีความต้องการประโยชน์จากระบบเครือข่ายในด้านธุรกิจแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น บางองค์กรต้องการระบบเครือข่ายที่เน้นการเชื่อมต่อสู่ระบบ Internet  หรือบางองค์กรต้องการระบบที่เน้นการรับ-ส่งข้อมูลภายใน  หรือบางองค์กรอาจจะต้องการระบบเครือข่ายที่เน้นการส่งข้อมูลแบบแพร่กระจาย (Multicast/Broadcast Packet) เช่นจำพวก Video Conference เป็นต้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ผู้ออกแบบระบบเครือข่ายจะต้องศึกษาและคำนึงถึงก่อนที่จะเริ่มออกแบบระบบเครือข่ายให้แก่องค์กรนั้นๆ
หลังจากที่เราได้มีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงรูปแบบความต้องขององค์กรที่เราจะำทำการออกแบบระบบเครือข่ายแล้วนั้น  ขั้นตอนต่อมาที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงก็คือ การแบ่งการทำงานออกเป็นส่วนๆ และมีการกำหนดลำดับความสำคัญของงานแต่ละส่วนไว้  ซึ่งจะทำให้เรามีการวางแผนการทำงานได้ว่า งานส่วนไหนควรจะลงมือทำก่อน งานส่วนไหนสามารถทำทีหลังได้ และจะทำให้ระบบเครือข่ายที่เราออกแบบมานั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด  ซึ่งในครั้งนี้จะนำตัวอย่างการวิเคราะห์ระบบเครือข่ายในองค์กร 2 รูปแบบ ทั้งองค์กรแบบ Enterprise และองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดย่อมลงมา (SOHO - Small Office Home Office) มาพูดคุยกันนะครับ

ระบบเครือข่ายขององค์กรระดับ Enterprise
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าองค์กรลักษณะ Enterprise นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นองค์กรที่มีผู้ใช้งานระบบเครือข่าย (User) เป็นจำนวนมากๆ อาจเป็นหลักร้อยหรือหลักพันในบางองค์กร  นอกจากนั้น ในระบบเครือข่ายนั้นจะมีอุปกรณ์ Server หลายๆ เครื่องสำหรับการเก็บข้อมูล และระบบเครือข่ายอาจจะครอบคลุมบริเวณที่กว้าง  อาจจะหลายๆ ตึกในบริเวณเดียวกัน หรือบริเวณใกล้ๆ กัน หรืออาจจะรวมไปถึงองค์กรที่มีระบบเครือข่ายครอบคลุมหลายๆ จังหวัด ในกรณีที่มีสาขาหรือโรงงานหลายๆ แห่ง  ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบเครือข่ายลักษณะนี้จะเป็นการเชื่อมต่อกันของระบบเครือข่ายย่อยๆ หลายเครือข่ายเข้ามาที่เครือข่ายหลัก หรือที่เรียกว่า Backbone Network ซึ่งระบบเครือข่าย Enterprise นั้นส่วนใหญ่แล้วจะต้องการอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงและมีราคาแพง  และจำเป็นที่จะต้องมีผู้ดูแลระบบที่มีความรู้และเชี่ยวชาญมาจัดการและดูแลระบบเครือข่าย


สิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับระบบเครือข่าย Enterprise นั้นก็คือเรื่องของประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ Backbone หรืออุปกรณ์เครือข่ายหลัก  ซึ่งอุปกรณ์ที่จะมาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ Backbone นั้นควรจะเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูง, สามารถจัดการกับขนาดของข้อมูลมากๆ หรือข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาจากเครือข่ายย่อยของสาขาต่างๆ ได้อย่างดี, ต้องรองรับการขยายตัวของระบบเครือข่ายในอนาคตได้ดี, สามารถทำงานได้โดยปราศจากการขัดข้องที่ทำให้ระบบใช้งานไม่ได้ (Downtime)  หรือถ้ามีก็จะต้องทำให้เกิดน้อยที่สุด, เป็นอุปกรณ์ที่จัดการและดูแลไม่ยากจนเกินไป และที่สำคัญก็คือจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในองค์กรที่ดีด้วย  ซึ่งในส่วนของการเลือกอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้งานเป็นอุปกรณ์ Backbone จะได้นำกล่าวถึงในครั้งต่อๆ ไป

ระบบเครือข่ายขององค์กรระดับ SOHO (Small Office Home Office)
สำหรับระบบเครือข่ายขององค์กรขนาดเล็ก หรือระดับ SOHO นั้นจะมีความต้องการการใ่ช้งานระบบเครือข่ายที่ไม่มากเท่าระบบเครือข่ายแบบ Enterprise ซึ่งเครือข่ายแบบ SOHO นั้นมักเป็นระบบที่ไม่ค่อยมีความซับซ้อนมากนัก มีจำนวนผู้ใช้งานไม่ถึงหลักร้อย  การรับ-ส่งข้อมูลมักจะเป็นการรับ-ส่งภายในระบบเครือข่ายขององค์กรเป็นส่วนใหญ่  และผู้ดูแลระบบก็ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมากนัก ซึ่งต่างจากระบบ Enterprise
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ระบบเครือข่ายระดับ SOHO ก็มีปัจจัยที่จะต้องคำนึงถึงเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการออกแบบระบบให้ใช้งานง่าย  สามารถให้บริการผู้ใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา  และสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดสิ่งหนึ่งสำหรับการออกแบบเครือข่ายขนาดเล็กก็คือ การรองรับการขยายตัวของระบบเครือข่ายในกรณีที่องค์กรมีการขยายและพัฒนาในอนาคต  ทั้งในแง่ของขนาดของระบบเครือข่าย และในแง่ของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่ด้วย



จะเห็นได้ว่า หลังจากที่เราได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการ, รูปแบบ รวมถึงระบบการทำงานขององค์กรต่างๆ แล้วนั้น จะทำให้เราสามารถวางแผนในการออกแบบระบบเครือข่ายได้ง่ายขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของขนาดของระบบเครือข่าย, เทคโนโลยีที่จะใช้ในระบบเครือข่าย  รวมถึงการเลือกอุปกรณ์เพื่อเข้ามาใช้ในระบบเครือข่าย  แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงทั้งระบบเครือข่ายขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ก็คือการออกแบบระบบเครือข่ายที่จะต้องรองรับการขยายและพัฒนาในอนาคต  โดยระบบเครือข่ายที่ดีนั้นควรจะต้องรองรับการขยายขององค์กรทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน, รูปแบบ Application ใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตด้วย

รูปแบบการทำงานของระบบเครือข่าย
ในรูปแบบการทำงานของระบบเครือข่ายใดระบบหนึ่งนั้น มักจะมีรูปแบบการทำงานอยู่ 2 แบบหลัก คือแบบ Peer-to-Peer และแบบ Client/Server

รูปแบบเครือข่าย Peer-to-Peer
การทำงานของรูปแบบเครือข่าย Peer-to-Peer นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่จะใช้กับระบบเครือข่ายที่มีขนาดเล็กๆ  โดยการทำงานนั้นจะเป็นในลักษณะที่อุปกรณ์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะมีหน้าที่การทำงานที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีการแบ่งลำดับความสำคัญของแต่ละเครื่องในระบบเครือข่าย

ส่วนมากการทำงานของระบบเครือข่าย Peer-to-Peer นั้นจะเป็นการใช้ข้อมูลของแต่ละเครื่องร่วมกัน  หรือการ Share ข้อมูลนั่นเอง  หรือที่เราเีรียกว่าการทำงานในรูปแบบ Workgroup  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการทำงานในรูปแบบ Peer-to-Peer นี้จะมีจำนวนผู้ใช้งานไม่เกินหลักสิบคน, มีจำนวนของข้อมูลที่มีรับ-ส่งกันไม่มากนัก  และยังไม่คำนึงถึงการขยายตัวของระบบเครือข่ายในอนาคตอันใกล้

รูปแบบเครือข่าย Client/Server
สำหรับการทำงานของเครือข่ายรูปแบบ Client/Server นั้นจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานของอุปกรณ์ในระบบเครือข่ายเป็น 2 ส่วนคือ
  • Server  เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ให้บริการต่างๆ แก่อุปกรณ์อื่นๆ ในระบบเครือข่าย
  • Client  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บริการต่างๆ ที่อุปกรณ์ Server มีัให้บริการ

รูปแบบเครือข่ายประเภทนี้มักจะมีการใช้งานในระบบเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น ดังนั้นระบบเครือข่ายควรจะต้องมีอุปกรณ์มาทำหน้าที่เป็น Server เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งานต่างๆ หรือ Client ในระบบ  ซึ่งอุปกรณ์ Server นั้นนอกจากจะมีหน้าที่ในการให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลในระบบเครือข่ายแล้ว  Server ยังเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาคอยจัดการเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในองค์กรด้วย  ซึ่งถือเป็นอีกข้อดีของรูปแบบเครือข่าย Client/Server เพราะว่าเราสามารถกำหนดรูปแบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในระบบเครือข่ายบนอุปกรณ์ Server และบังคับการใช้งานให้แก่ผู้ใช้หรือ Client ต่างๆ ในระบบเครือข่ายได้ ซึ่งจะทำให้มีการจัดการข้อมูลที่สะดวกมากขึ้น
ในการออกแบบระบบเครือข่ายนั้น จุดประสงค์หลักของเราก็คือ ต้องการระบบที่สามารถรองรับการรับ-ส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบบเครือข่ายส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะเป็นระบบที่มีรูปแบบการทำงานผสมกันทั้งแบบ Peer-to-Peer และแบบ Client/Server  ดังนั้นในการออกแบบระบบเครือข่าย เราจำเป็นจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมขององค์กรว่าควรจะใช้รูปแบบของเครือข่ายแบบใด